แบบบ้านดีดี (DEDE) รักษ์พลังงาน
โครงการศึกษาเกณฑ์การใช้พลังงานในบ้านพักอาศัย และสร้างต้นแบบบ้านประหยัดพลังงาน
ความเป็นมาของโครงการ
จากสถิติจำนวนครัวเรือนของประเทศไทยในปัจจุบันประมาณ 20 ล้านครัวเรือน มีการใช้พลังงานคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 15 ของการใช้พลังงานทั้งหมดของประเทศ โดยหากจำแนกลักษณะของบ้านพักอาศัยแล้วจะพบว่า ประมาณร้อยละ 73 เป็นบ้านเดี่ยว, ร้อยละ 17 เป็นบ้านแถว ทาวน์เฮ้าส์และตึกแถว และอีกร้อยละ 9 เป็นห้องชุดหรือแฟลต ในขณะที่การเติบโตด้านที่อยู่อาศัยมีจำนวนบ้านที่ก่อสร้างใหม่เพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉลี่ยแต่ละปีเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีบ้านที่ขออนุญาตก่อสร้างใหม่ประมาณ 45,000 – 50,000 หลัง ในจำนวนนี้ประมาณร้อยละ 50 เป็นบ้านในโครงการจัดสรร
ถึงแม้ว่าที่ผ่านมา กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) ได้ดำเนินการส่งเสริมเรื่องบ้านประหยัดพลังงาน มุ่งเน้นการให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนเกี่ยวกับแนวคิดการออกแบบและการเลือกใช้วัสดุในการสร้างบ้าน โดยเฉพาะผู้ที่กำลังตัดสินใจซื้อหรือสร้างบ้าน และกระตุ้นให้ผู้ประกอบการด้านที่อยู่อาศัยหันมาให้ความสำคัญในเรื่องบ้านประหยัดพลังงานมากขึ้น นอกจากการดำเนินกิจกรรมดังกล่าวแล้ว ยังได้ทำการศึกษาแนวทางการส่งเสริมบ้านประหยัดพลังงาน โดยพบว่ามาตรการหนึ่งที่สำคัญและจำเป็น คือ การกำหนดเกณฑ์มาตรฐานการใช้พลังงานสำหรับบ้านอยู่อาศัย ซึ่งประเทศไทยไม่มี ต้องอาศัยข้อมูลทางวิชาการจากต่างประเทศซึ่งแตกต่างกับภูมิสภาวะของประเทศไทย โดยเกณฑ์มาตรฐานการใช้พลังงานสำหรับบ้านพักอาศัยนี้ จะถูกใช้เป็นข้อมูลและเครื่องมือที่สำคัญในการส่งเสริมเรื่องบ้านประหยัดพลังงานต่อไปในอนาคต
นอกจากนี้ พพ. จะดำเนินการเผยแพร่ความรู้และสาธิตในเรื่องเกณฑ์การใช้พลังงานโดยการพัฒนาต้นแบบบ้านประหยัดพลังงานสำหรับประชาชน ซึ่งสามารถนำไปใช้ในการก่อสร้างได้จริงและก่อให้เกิดการประหยัดพลังงานอย่างชัดเจน โดยต้นแบบบ้านประหยัดพลังงาน สามารถนำไปใช้ในลักษณะของพิมพ์เขียวและปรับแบบให้สอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศในแต่ละภูมิภาคของประเทศได้อีกด้วย โดยมุ่งหวังให้ประชาชนได้มีความรู้ความเข้าใจและเกิดความเชื่อมั่นว่า แนวคิดเรื่องบ้านประหยัดพลังงานเป็นสิ่งที่นำมาใช้ได้จริงและเกิดผลการประหยัดพลังงานที่เป็นรูปธรรม และยังเป็นบ้านที่อยู่สบายอีกด้วย กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) จึงขอเสนอแบบบ้านในโครงการทั้ง 12 แบบ ดังต่อไปนี้
ตัวอย่างแบบบ้านดีดี (DEDE) รักษ์พลังงาน
แบบบ้านดีดีรักษ์กัน 1
แบบบ้านดีดีรักษ์กัน 2
แบบบ้านดีดีรักษ์ดิน 1
แบบบ้านดีดีรักษ์ดิน 2
แบบบ้านดีดีรักษ์ดิน 3
แบบบ้านดีดีรักษ์น้ำ 1
แบบบ้านดีดีรักษ์น้ำ 2
แบบบ้านดีดีรักษ์น้ำ 3
แบบบ้านดีดีรักษ์ฟ้า 1
แบบบ้านดีดีรักษ์ฟ้า 2
แบบบ้านดีดีรักษ์ฟ้า 3
แบบบ้านดีดีรักษ์ฟ้า 4
คู่มือแบบบ้านดีดีรักษ์พลังงาน
มีข้อสงสัยหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ ผศ.รุ่งโรจน์ วงศ์มหาศิริ โทร 0812518072 หรือติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
Facebook Fanpage :
บ้านดีดีรักษ์พลังงาน
อ่านก่อนดาวน์โหลด
บันทึกข้อความ
ที่ คณะสถาปัตยกรรมมศาสตร์ สจล. วันที่ 9 มีนาคม 2560
กราบเรียนท่านผู้สนใจในแบบก่อสร้างบ้านดีดีรักษ์พลังงาน
บ้านดีดีรักษ์พลังงานเป็นแบบบ้านประหยัดพลังงานที่เน้นการตัดพลังงานความร้อนพื้นฐานจากรังสีดวงอาทิตย์ก่อนที่จะเข้าสู่พื้นที่ภายในส่วนอยู่อาศัย จึงทำให้สามารถลดความร้อนที่เกิดขึ้น และการสะสมความร้อนภายในอาคารได้เป็นอย่างดี ในด้านการประหยัดไฟฟ้าจากแสงสว่างได้ออกแบบช่องเปิดยาวตลอดแนวนอนในส่วนห้องนั่งเล่นและห้องนอนด้วยอัตราส่วนการเปิดที่ถูกต้อง ทำให้ในเวลากลางวันไม่จำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าแสงสว่างในพื้นที่อยู่อาศัย
อย่างไรก็ตาม ในการใช้แบบก่อสร้างทั้ง 12 แบบมีข้อสำคัญที่ควรต้องระวังดังต่อไปนี้
1. การก่อสร้างจำเป็นต้องจัดหาวิศวกรโยธาทำการสำรวจการรับน้ำหนักของดินในพื้นที่ก่อสร้าง และคำนวณเพิ่มเติมในส่วนของเสาเข็มหรือฐานราก (ในกรณีมีการเลือกฐานรากแตกต่างออกไป เนื่องจากในพื้นที่แต่ละแห่งจะมีความสามารถในการรับน้ำหนักอาคารที่แตกต่างกันด้วยรูปแบบทางธรณีวิทยาของพื้นที่นั้นๆ จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ห้ามละเลยเด็ดขาด)
2. การปรับเปลี่ยนการใช้สอยภายในสามารถกระทำได้ ตราบใดที่ไม่ปรับเปลี่ยนรูปทรง ความลึก และความยาวของชายคาและระเบียงภายนอก (เนื่องจากเป็นส่วนกันรังสีดวงาอทิตย์ที่สำคัญและได้รับการคำนวณและออกแบบไว้อย่างพอดีให้กันแดดได้ในช่วงเวลา 9.00 น. ถึง 15.00 น.ตลอดทั้งปี การปรับเปลี่ยนชายคาและระเบียงจะส่งผลให้แสงอาทิตย์ลอดผ่านกระจกเข้าสู่ภายในและเกิดการสะสมความร้อนภายในอาคารมากขึ้นตามปริมาณรังสีดวงอาทิตย์ที่ลอดเข้าไป)
3. ฉนวนใยแก้วในบริเวณเหนือฝ้าเพดานเป็นวัสดุจำเป็นที่ห้ามนำออกจากการก่อสร้าง (เนื่องจากหลังคาได้ปรับลงเป็นมุมราบประมาณ 20 องศาซึ่งจะทำให้เกิดความร้อนใต้หลังคาสูงกว่าหลังคาที่มีมุมชันกว่า 20 องศา เพื่อแลกกับการติดตั้งเซลแสงอาทิตย์ให้ได้รับพลังงานเพียงพอ จึงจำเป็นต้องใช้วัสดุฉนวนใยแก้วที่มีความหนาเพียงพอในการป้องกันไม่ให้ความร้อนจากส่วนใต้หลังคาผ่านเข้าสู่ส่วนอยู่อาศัยมากเกินไป)
ในปัจจุบันแบบก่อสร้างทั้ง 12 แบบ เป็นแบบก่อสร้างตรวจสอบครั้งที่ 1 ซึ่งทางคณะผู้ออกแบบได้ทำการปรับปรุงรายละเอียดที่จำเป็นเพิ่มเติมขึ้น และจะเปิดให้ดาว์นโหลดได้ในเว็บไซต์เดิม ณ www.arch.kmitl.ac.th/DEDE ในกรณีที่ท่านต้องการติดต่อสอบถามกรุณาติดต่อมายัง ผศ.รุ่งโรจน์ วงศ์มหาศิริ ผู้จัดการโครงการ ที่หมายเลขโทรศัพท์ 081-2518072 ในวัน และเวลาราชการ หรือติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Facebook Fanpage :
บ้านดีดีรักษ์พลังงาน
ขอแสดงความนับถือ
ผศ.รุ่งโรจน์ วงศ์มหาศิริ
จำนวนดาวน์โหลดทั้งหมด 304 ครั้ง